20 มีนาคม 2279

วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระนามเดิม ด้วง) ประสูติที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อ ทรงเจริญพระชันษาขึ้นได้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตต่อมาเมื่อทรงอุปสมบทแล้วเข้ารับราชการเป็นมหาด เล็กหลวง ครั้นมีพระชันษา 25 ปี ได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ใน พ.ศ. 2311 มาเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีเป็นพระราชวรินทรในกรมพระตำรวจหลวง ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในการกู้บ้านเมืองมาหลายครั้งหลายคราว เช่น

ใน พ.ศ. 2311 โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบเจ้าพิมายมีหน้าที่ตีด่านขุดทด และด้านกระโทก เจ้าเมืองพิมายหนีไปอยู่เสียมราช เมื่อเสร็จศึกครั้งนี้ได้เลื่อนเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์

ครั้น พ.ศ. 2312 พระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้เป็นแม่ทัพไปตีประเทศกัมพูชาตีได้เมืองพระตะบอง เสียมราฐ แล้วตั้งคอบกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ เพราะได้รับท้องตราว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปจึงจะเสด็จตามไป แต่พระองค์ท่านไปติดมรสุมเสียที่เมืองนครศรีธรรมราชหลายเดือน เกิดข่าวลือว่า เสด็จสวรรคตเสียที่นั่น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และ พระยาอนุชิตราชาน้องชายเกรงว่าจะเกิดจลาจลในกรุงธนบุรีจึงยกทัพกลับ

ครั้งถึง พ.ศ.2313 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยายมราช และได้ทำหน้าที่บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทน สมุหนายกด้วย ต่อมาพระยาจักรี (แขก) ถึงอสัญกรรมพระยายมราชจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาจักรี ได้เป็นแม่ทัพไปตีประเทศกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งตีได้เมืองพะตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์จนถึง เมืองบันทายเพชรซึ่งขณะนั้นเป็นราชธานี สมเด็จพระนารายณ์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชาหนีไปเมืองบาพนม และเมื่อเจ้าพระยาจักรียกทัพติดตามไป ก็หนีต่อไปถึงเมืองญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชาให้แก่พระรามราชาอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ราชาแล้ว ทัพไทยจึงยกเข้าพระนคร

เจ้าพระยาจักรีได้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ผู้น้องใน พ.ศ. 2317 ได้เมืองลำปาง ลำพูน และ ล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ นับเป็นการตีเมืองเชียงใหม่ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ได้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ถึง 34 ค่าย ชักปีกกาตลอดถึงกัน เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีเสด็จไปถึงค่ายหลวงใกล้เมืองเชียงใหม่ ได้มีรับสั่งให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ในวันนั้น เจ้าพระยาจักรีก็ยกทัพเข้าตีข่ายพม่าซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ทั้งด้านใต้และตะวันตกหมดทุกค่าย และในค่ำวันนั้นเองแม่ทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่ก็ทิ้งเมืองหนีออกไปทางเหนือ พอได้เมืองเชียงใหม่แล้วสมเด็จพระ เจ้ากรุงธนบุรีรีบเสด็จกลับลงมาเพราะได้ข่าวศึกพม่ายกเข้ามาในเขตแดนไทยอีกจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพจัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย เจ้าพระยาจักรี ได้เกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองน่านมาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่งด้วยในปีเดียวกันนั้นเองพม่ายกกองทัพติดตามพวกครัวมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาด่านเจดีย์ สามองค์ ทัพพม่าตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้วอันเป็นเขตต่อระหว่างราชบุรีและสมุทรสงคราม เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับจากเชียงใหม่ได้มาช่วยบัญชาการรบพม่า ค่ายพม่า ถูกล้อมอยู่เกือบสองเดือน ไม่มีทางที่จะได้เสบียงอาหารมาเพิ่มเติมจึงขอเจรจาอ่อนน้อม

พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่อีกใน พ.ศ. 2318 เจ้าพระยาจักรีได้ยกทัพขึ้นไปแต่ปรากฏว่าแม่ทัพพม่ายังไม่ทับจะได้ตีเมือง เพียงแต่ได้ข่าวทัพไทยยกขึ้นไปช่วยก็ถอย กลับไปอยู่เมืองเชียงแสน บังเอิญเป็นเวลาที่อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพเข้าตีเมืองไทยทางด่านแม่ละเมามาถึงเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาจักรีจึงถอยลงมาตั้งรับพม่าอยู่ที่ เมืองพิษณุโลกพร้อมด้วย เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองศึกอะแซหวุ่นกี้ครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญมาก พม่ายกมาเป็นทัพใหญ่เข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้หลายด้าน เข้าตีเมือง พิษณุโลกหลายครั้งแต่ก็ตีไม่ได้ อะแซหวุ่นกี้ซึ่งเป็นแม่ทัพพม่าที่มีความสามารถมาก ถึงกับเจรจาหยุดรบและขอพบเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพไทยได้ยกย่องสรรเสริญว่า เก่งกล้าสามารถ ตามความในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า "อะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า ท่านนี้รูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็งอาจสู่รบ เราผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้" เมืองพิษณุโลกถูกล้อมอยู่จนกระทั่งขัดสนเสบียงอาหาร เจ้าพระยาจักรีปรึกษากับเจ้าพระยา สุรสีห์แล้วเห็นจำเป็นต้องทิ้งเมืองพิษณุโลกตีหักค่ายพม่าออกไปทางเมืองเพชรบูรณ์

ครั้น พ.ศ. 2319 เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองทางตะวันออก ตีได้เมืองรางรอง จำปาศักดิ์ อัตปีอ โขง และยังได้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองจำปาศักดิ์และนครราชสีมาอีก 3 เมือง คือ สุรินทร์ สังขะ และขุขันธ์ มาอ่อนน้อมเป็นข้อขอบขันฑสีมาอีกด้วย เสร็จราชการทัพครั้งนี้ ได้เลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ หลวงพระบาง และเมืองขึ้นทั้งปวง เมื่อจะยกกองทัพกลับลงมา ได้เชิญพระพุทธ มหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต กับพระบางซึ่งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ลงมายังกรุงธนบุรีด้วย

เมื่อเกิดจลาจลขึ้นในประเทศกัมพูชา ใน พ.ศ. 2323 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพใหญ่ ไปปราบปรามการจลาครั้งนี้ ยังไม่ทันจะจัดการได้สำเร็จบังเอิญเกิดการจลาจลในกรุงธนบุรีจึงต้องยกกองทัพกลับ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะที่เป็นหลวงยกกระบัตริเมืองราชบุรีได้ทรงทำการวิวาห์มงคล กับท่านนากธิดาคหบดีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงครามต่อกับเขตราชบุรี ซึ่งต่อมาได้เฉลิมพระเกียรติเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ควรกล่าวพระนามคือ.

    1. พระธิดา พระนามฉิมใหญ่ เป็นพระราชชายาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็นกรมขุมกษัตรานุชิตในรัชกาลที่ 1
    2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระนามเดิมว่า ฉิม)
    3. สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 2 พระนามเดิมว่า จุ้ย)

พระโอรสประสูติแต่พระสนมที่ควรกล่าวพระนามมี

    1. สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพย์ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายอรุโณทัย)
    2. พระองค์เจ้าชาย วาสุกรี ทรงผนวชเป็นเณรและทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้วเสด็จอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดพระชนม์ชีพ ประทับอยู่วัดพระเชตุพน ฯ ในรัชกาลที่ 4 ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นปราชญ์ทั้งในทางพุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี ได้รับถวายพระเกียรติว่าเป็นกวีเอกผู้หนึ่ง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือหลายเรื่อง ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง เช่นลิลิตเตลงพ่ายเป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชภาระหลายอย่างซึ่งจะต้องทางกระทำ ในเวลาเดียวกัน ในด้านการสงคราม ไทยต้องทำสงครามกับพม่าเกือบตลอดรัชกาล ซ้ำพระองค์ท่านยังจะต้องทรงสร้างบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ อีกทุก ๆ ด้าน เพราะทรงตั้งราชธานี และสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นใหม่แต่พระองค์ท่านก็ได้ทรงบริหารพระราชกรณียกิจในทุก ๆ ด้านให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี เป็นที่น่าอัศจรรย์ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถ มีพระปัญญาอันเฉียบแหลม ประกอบด้วยพระวิริยะอุตสาหะอันสม่ำเสมอแม้เมื่อทรงชรามากแล้วก็ยังเสด็จออกว่า ราชการมิได้ขาด ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุ 74 พรรษา ทรงปกครองประเทศมาเป็นเวลา 28 ปี.