ประเพณีไหลเรือไฟ  หรือ   "ไหลเฮือไฟ"  ในภาษาอีสานเป็นประเพณี
	ลอยกระทงตามแบบอีสานจะจัดในเทศกาลออกพรรษาของชาวจังหวัดทางภาคตะวันออก
	เฉียงเหนือโดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจะจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น  15 ค่ำ เดือน 11
	เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก  หลังจากที่พระพุทธองค์ 
	ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงพระธรรมโปรดพระพุทธมารดาและ
	เป็นความเชื่อว่าถ้าจัดพิธีนี้ขึ้นก็จะเป็นการแสดงความคารวะต่อพระยานาคที่สถิตอยู่ตาม
	แม่น้ำใหญ่ให้คุ้มครองรักษาผู้สัญจรไปมาทางน้ำไม่ให้มีภัยอันตรายเกิดขึ้นโดยพิธีนี้จะจัด
	ขึ้นในแม่น้ำใหญ่ๆ เช่น  แม่น้ำมูลแม่น้ำชีในจังหวัดเลยและในแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน
	เป็นต้น
"เรือไฟ" หรือ "เฮือไฟ" คือเรือที่ทำด้วยท่อนกล้วยและไม้ไผ่
ตัวเรือยาวประมาณ 20 - 30เมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ซีกจัดทำโครง
เป็นรูปเรือประดับด้วยไต้  หรือตะเกียงน้ำมันวางเรียงห่างกัน
ประมาณ 1-2 คืบ
	ภายในเรือบรรจุไปด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และขนม ข้าวต้ม ฝ้าย ไหมและเครื่องไทยธรรมต่างๆ  
	อีกมากมายที่พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาซื้อมาร่วมทำบุญ   ครั้นพอตกค่ำบรรดาเจ้าของเรือจะ
	จุดไต้หรือตะเกียงให้สว่าง  แล้วนำเรือของตนออกไปกลางแม่น้ำแล้วปล่อยให้เรือไหลไปตาม
	แม่น้ำคล้ายกับการลอยกระทง  และมีเรือของหนุ่มๆ สาวๆ ที่พากันตีกลองร้องรำทำเพลงกัน
	อย่างสนุกสนานในเวลานั้นท้องน้ำก็จะสว่างไสวไปด้วยไฟระยิบระยับสร้างความตื่นตาตื่นใจ
	ให้แก่ผู้ชมตามริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นอย่างมาก