การละเล่นของเด็กไทย

1. การเล่นว่าว   (CHUG WAO)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เอาเชือกว่าวสายยาวผูกกับสายซุง แล้วให้คนส่งว่าวไปยืนโต้ลม ห่างจากผู้ชักสายว่าว ประมาณ
4-5 เมตร ตั้งหัวว่าวขึ้นรอ พอลมมากก็ส่งว่าวขึ้นไป คนชักว่าวจะกระดูกและผ่อนสายว่าวจนว่าวขึ้นสูง
ติดลมบน จึงถือไว้นิ่งๆ หรือบังคับให้ว่าวส่ายไปมา
ว่าวธรรมดาไม่ต้องใช้ป่านพิเศษ แต่ถ้าเป็นว่าวแข่งขัน ตัวว่าวเอาชนะแพ้กัน จะใช้ป่านคมทำสายว่าว
วิธีทำป่านคม คือ เอาเศษแก้วมาบดให้ละเอียด เคี่ยวกับแป้งเปียก หรือกาว และนำมารูดตามสายว่าวที่ขึงตึง
ทิ้งไว้ให้แห้งก็จะเป็นสายป่านคม


2. เดินกะลา   (DERN KALA)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

เอาเชือกเส้นหนึ่งยาวประมาณ 1 วา ร้อยกะลามะพร้าว 2 อัน แล้วผู้เล่นขึ้นไปยืนบนกะลามะพร้าว
โดยใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้หนีบเส้นเชือกเอาไว้ทั้ง 2 เท้า (เหมือนกับหนีบรองเท้าฟองน้ำ) เมื่อเริ่มเล่น
ทุกคนยืนอยู่ที่เส้น พอได้ยินเสียงสัญญาณให้รีบเดินไปที่เส้นชัย ใครถึงก่อนถือว่าชนะ



3. ตี่จับ   (TEE CHUB)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน และจับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเริ่มตี่ก่อน ฝ่ายที่ตี่ก่อน เริ่มเล่นโดยเลือก
พวกของตนคนหนึ่งเป็นคนเข้าไปตี่ คนตี่จะออกเสียง "ตี่" หรือ "หึ่ม" เข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม ในขณะ
เดียวกันฝ่ายตรงข้ามต้องคอยยึดตัวไม่ให้กลับเข้าแดนของตนได้ จนกว่าจะขาดเสียงผู้นั้นต้องมาเป็นเชลย
ของฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าสามารถหนีกลับเข้าแดนตนได้ คนที่ถูกแตะจะกี่คนก็ตามต้องไปเป็นเชลยสลับกัน
เมื่อมีฝ่ายของตนเป็นเชลย ผู้ที่ตี่คนต่อไปต้องพยายามช่วยพวกของตนกลับมาให้ได้ ฝ่ายตรงข้ามต้อง
คอยกันไม่ให้แตะกันได้ ถ้าแตะกันได้เชลยจะได้กลับแดนของตน เล่นกันเช่นนี้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมด
ตัวผู้เล่นก่อน ฝ่ายชนะมีสิทธ์จะให้ฝ่ายแพ้ทำอะไรก็ได้



4. ขี่ม้าโยนบอล  (KHEE MA YON BALL)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องครบคู่

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน ตั้งวงกลมแล้วเลี้ยงคู่ต่อคู่ ฝ่ายแพ้จะถูกฝ่ายชนะขี่หลัง
แต่ละคู่ยืนห่างกัน 3 - 5 เมตร ผู้ที่ขี่หลังจะโยนลูกบอลส่งให้กับฝ่ายที่ถูกขี่หลัง ต้องไม่กระดุกกระดิกเวลา
ที่ฝ่ายขี่โยนลูกบอล ถ้าฝ่ายถูกขี่กระดุกกระดิกพยายามให้ลูกบอลตก ฝ่ายขี่จะเอาลูกบอลเคาะศรีษะได้ ถ้าฝ่าย
ขี่รับลูกบอลไม่ได้ จะต้องรีบลงจากหลังวิ่งหนี ฝ่ายถูกขี่จะหยิบลูกบอลขว้างได้ ฝ่ายขี่ถ้าขว้างไม่ถูกจะต้อง
ถูกขี่ใหม่อีก แต่ถ้าขว้างถูกจะได้เปลี่ยนเป็นฝ่ายขี่แทน



5. อีกาฟักไข่   (E-KA FUK KHAI)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้ผลไม้หรืออะไรก็ได้ สมมุติว่าเป็นไข่ และเขียนวงกลมลงบนพื้นเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 4 ฟุต
1 วง และอีกขาอยู่ในวงแรกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วางไข่กำหนดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่ง
เป็นกายืนในวงกลมใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมใหญ่ คอยแย่งไข่
คนเป็นกามีหน้าที่ ป้องกันไข่ โดยมีกติกาการเล่น ดังนี้

1. ผู้มีหน้าที่หยิบ (แย่ง) ไข่ เข้าไปในวงกลมไม่ได้

2. ผู้มีหน้าที่หยิบไข่ต้องระวังมิให้อีกาตีถูกมือ หรือแขนของตน ซึ่งล่วงล้ำเข้าไปในวงกลมได้

3. ถ้าแย่งไข่ไปจากอีกาได้หมด ให้ปิดตาอีกา แล้วเอาไข่ไปซ่อนให้อีกาตามหาไข่ ถ้าพบไข่ที่ผู้เล่นคนใด
เป็นคนซ่อนผู้นั้นต้องเปลี่ยนเป็นกาแทน



6. เก้าอี้ดนตรี   (KAO - E DONTRI)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

ผู้เล่นทุกคนยืนเป็นวงหลังเก้าอี้ เมื่อเพลงขึ้นทุกคนต้องรำ เมื่อเพลงหยุดตอนใด ทุกคนต้องรีบ
นั่งเก้าอี้ คนที่เหลือแย่งไม่ทันเพื่อน ต้องออกจากการแข่งขัน กรณีที่แย่งกันนั่งพร้อมกัน 2 คน เก้าอี้
ตัวเดียวกัน ตัดสินไปว่าใครนั่งก่อนให้เริ่มใหม่ เล่นกันต่อไปจนเหลือคนสุดท้าย ก็จะเป็นผู้ชนะเงื่อนไข
จำนวนเก้าอี้ต้องน้อยกว่า ผู้เล่น 1 ตัว ทุกครั้ง เช่น ถ้ามีผู้เล่น 4 คน ต้องมีเก้าอี้ 3 ตัว



7. ซ่อนหาหรือโป้งแปะ   (SON HA OR PONG PAE)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาว เพื่อหาว่าใครจะเป็นคนหาก่อน เมื่อได้แล้วก็ปิดตา คนอื่นๆ ไปซ่อน คนปิดตาถาม
"เอาหรือยัง" ถ้าผู้ซ่อนคนใด หรือหลายคนร้องว่า "ยัง" ก็ยังเปิดตาไม่ได้ รอจนกว่าผู้ซ่อนจะร้องว่า
"เอาละ" จึงเปิดตาได้และค้นหาผู้ซ่อน เมื่อหาพบต้องส่งเสียงดังๆ เพื่อให้รู้ว่าพบใครคนหนึ่งแล้ว ผู้ซ่อน
ทั้งหลายก็ออกมาจากที่ซ่อน ถ้าเล่นโป้งแปะ จะต้องร้องว่า "โป้ง….(ชื่อผู้ที่พบ)" ถ้าผู้ซ่อนถึงตัวผู้หา
และร้องว่า "แปะ" ก่อน ผู้นั้นต้องเป็นต่อไป ผู้เล่นจะต้องซ่อนคนเดียว ที่เดียวกันจะซ่อนมากกว่า 1 คนไม่ได้



8. ดมดอกไม้   (DOM DOK MAI)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แขวนดอกไม้ให้ห้อยอยู่ในระดับที่ตรงกับจมูกของคนที่ถูกปิดตา จับสลากเรียงลำดับเสี่ยงทายว่า
ใครจะเล่นก่อน เล่นหลัง คนที่เริ่มเล่นก่อนจะต้องถูกปิดตา แล้วให้ผู้ที่จะถูกปิดตาเดิน 5-6 ก้าว จากจุดที่
แขวนดอกไม้ หยุดแล้วหันหน้ามาทางดอกไม้ เพื่อเอาผ้าผูกตา จับหมุน 3 รอบ แล้วหันหน้าให้ตรงกับดอกไม้
ปล่อยให้เดินตามกลิ่นดอกไม้ ให้ใช้จมูกอย่างเดียว ห้ามใช้มือควานหา ผู้เล่นมีสิทธิ์เล่นได้ 2 ครั้ง เมื่อครั้งแรก
ดมไม่ถูก ผู้ดูคนหนึ่งพาตัวผู้ดมดอกไม้ไปยืนที่ดอกไม้ให้ดมดอกไม้อีกครั้ง จากนั้นจึงให้เดินอออกจากดอกไม้
5 ก้าว ให้หันกลับไปทางดอกไม้อีก ถ้าดมดอกไม้ถูกก็ชนะ คนต่อไปก็เล่นตามลำดับ



9. กระโดดเชือกขาเดี่ยว   (KBA DODE CHUAG KHA DEO)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

เชือกยาวขนาดพอตัวผู้เล่นจับปลายเชือกทั้งสองข้างแกว่งไปข้างหน้า กระโดดข้ามทีเดียว 2 ขา หรือ
ทีละขาก็ได้ ถ้ากระโดดไปเหยียบเชือกก็หมดรอบ หรือจะแกว่งย้อนหลังก็ได้



10. ลิงชิงหลัก   (LINE CHING LUK)

จำนวนผู้เล่น   จำนวนผู้เล่น อย่างน้อย 3 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นคนหนึ่ง สมมุติว่าเป็น "สิงหลักลอย" ไม่มีหลักจับ อีก 2 คน เป็นลิงจับหลัก ผู้เป็นลิงหลักลอย
ต้องพยายามแย่งหลัก ในขณะที่ผู้เล่นทั้งหมดเปลี่ยนที่กัน ส่วนมากมักจะใช้สี่หลัก ผู้ที่เป็นลิงชิงหลักต้องคอย
สังเกตดูว่าตนจะชิงหลักไหนได้สะดวก ก็รีบวิ่งไปชิงหลักนั้นไว้ ถ้าจับหลักได้ก่อน ผู้ที่มาช้าก็เป็นลิงหลักลอย
คอยชิงหลักของคนอื่น บางคนทำท่าเปลี่ยนแล้วไม่เปลี่ยนเป็นการล่อหลอก ถือว่าเท้ายังยึดหลักอยู่
ผู้อื่นจะชิงไม่ได้



11. เสือข้ามห้วยเดี่ยว   (SUA KHARM HUI DEO)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาว เลือกคนที่เป็นห้วย 1 คน และคนอื่นๆ กระโดดข้ามมีทั้งหมด 8 ท่า

ท่าที่ 1 เหยียดขา 1 ข้าง ข้างใดก็ได้

ท่าที่ 2 เหยียดขาทับบนข้างเดิม ให้ส้นเท้าต่อบนหัวแม่เท้า

ท่าที่ 3 เหยียดแขนข้างหนึ่งตั้งบนขาทั้งสองข้าง ให้นิ้วก้อยตั้งบนหัวแม่เท้า กางนิ้วห่างๆ กัน

ท่าที่ 4 เหยียดแขนอีกข้างหนึ่ง ต่อบนมือข้างเดิม ให้นิ้วก้อยตั้งบนหัวแม่มือของข้างเดิม

ท่าที่ 5 นั่งหมอบ

ท่าที่ 6 ชักเงี่ยง โดยใช้ข้อศอกข้างหนึ่งยักขึ้นยักลง

ท่าที่ 7 ชักเงี่ยงทั้งสอง ใช้ข้อศอกทั้งสองข้างยัก

ท่าที่ 8 ลุกขึ้นยืนก้มตัว ใช้ปลายนิ้วมือจรดนิ้วเท้า



12. เสือข้ามห้วยหมู่   (SUA KHARM HUI MOO)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

เหมือนกับเสือข้ามเดี่ยว แต่จำนวนผู้ที่เป็นห้วยเพิ่มมากขึ้น นั่งเรียงกันไป โดยเว้นระยะห่างพอ
สมควร ผู้ที่เป็นเสือต้องกระโดดข้ามให้พ้นหมดทุกด่าน ถ้าตายที่ด่านใดด่านหนึ่ง ทุกคนจะต้องตายหมด
กลายมาเป็นห้วยแทนสลับกัน ส่วนเสือข้ามห้วยเดี่ยวนั้น ถ้าเสือข้ามพ้นทุกขั้น ผู้เป็นห้วยจะถูกลงโทษ
โดยพวกเสือจะช่วยกันหามไปทิ้งแล้วิ่งกลับมาที่เล่น ผู้ที่เป็นห้วยต้องพยายามจับให้ได้ ถ้าจับคนใดได้
คนนั้นต้องมาเป็นห้วยแทน



13. วิ่งวัวหรือวิ่งเปี้ยว   ( A RELAY RACE )

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน โดยปักหลัก 2 ข้าง หรือใช้คนนั่งเป็นหลักข้างละหลัก ระยะห่าง
ประมาณ 50 เมตร มีกรรมการตัดสิน 1 คน เริ่มต้นพร้อมกันทั้งสองข้าง ต้องวิ่งล้อมหลักไล่ให้ทันกัน
มือถือผ้าคนละผืน เมื่อถึงฝ่ายของตน ส่งผ้าให้คนต่อไป เป็นเช่นนี้จนวิ่งทันกัน ฝ่ายไล่ทันต้องใช้ผ้าที่ถือ
อยู่ตีอีกฝ่ายหนึ่ง ถือว่าฝ่ายนั้นชนะ



14. โพงพาง   (PONG PANG)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

เลือกคนที่เป็นปลา โดยการจับไม้สั้นไม้ยาว เอาผ้าผูกตาคนที่เป็นปลา แล้วหมุน 3 รอบ ผู้เล่น
คนอื่นๆ ล้อมวงจับมือกันเดินเป็นวงกลม พร้อมร้องเพลงประกอบ เมื่อจบเพลงนั่งลง ถามว่า
"ปลาเป็นหรือปลาตาย" ถ้าตอบว่า "ปลาเป็น" คนที่อยู่รอบวงจะขยับเขยื้อนหนีได้ ถ้าบอก "ปลาตาย"
จะต้องนั่งอยู่เฉยๆ คนที่ถูกปิดตาทายถูกก็ต้องมาเป็นแทน ถ้าทายผิดต้องเป็นต่อไป
(ผู้ที่เป็นปลา ซึ่งถูกปิดตาจะต้องทายว่า ผู้ที่ถูกจับได้เป็นใคร ชื่ออะไร)

บทร้องประกอบ
"โพงพางเอย
ปลาเข้าลอด
ปลาตาบอด
เข้าลอดโพงพาง
โพงพางเอย
นกกระยางเข้าลอด
เสือปลาตาบอด
เข้าลอดโพงพาง
กินปลาเป็นหรือกินปลาตาย"


15. มอญซ่อนผ้า   (MON SON PA)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

มีผ้า 1 ผืน เป็นอุปกรณ์การเล่น จับไม้สั้นไม้ยาว เลือกคนที่เป็นมอญ คนอื่นๆ นั่งล้อมวง
คนที่เป็นมอญถือผ้าไว้ในมือ เดินวนอยู่นอกวง คนที่นั่งล้อมวงอยู่จะร้องเพลง ระหว่างนั้นคนที่เป็นมอญ
จะทิ้งผ้าไว้หลังใครก็ได้ แต่ต้องพรางไว้เป็นว่ายังถือผ้าอยู่ เมื่อเดินกลับมา ผ้ายังที่อยู่เดิม ก็หยิบผ้าไล่ตี
ผู้อื่น ผู้เล่นนั้นต้องวิ่งหนีไปรอบๆ วง แล้วจึงนั่งได้ ผู้เป็นมอญจะเดินวนต่อไปหาทางวางผ้าให้ผู้อื่นใหม่
ถ้าใครรู้สึกตัวคลำพบผ้าจะวิ่งไล่ตีมอญไปรอบวง 1 รอบ มอญต้องรีบวิ่งหนีมานั่งแทนที่ คนไล่ก็ต้อง
เป็นมอญแทน

บทร้องประกอบ
"มอญซ่อนผ้า
ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง
ไว้โน่นไว้นี่
ฉันจะตีก้นเธอ"


16. รีรีข้าวสาร   ( REE - REE KHAO SARN )

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาว ให้ผู้เล่น 2 คน ยืนเอามือประสานกันเหนือศีรษะเป็นประตูโค้ง คนอื่นๆ เกาะไหล่กัน
ลอดใต้โค้งไปเรื่อยๆ สองคนที่เป็นประตูจะร้องเพลงประกอบเวลา แถวลอดใต้โค้งหัวแถวจะต้องเดินอ้อม
หลังคนที่เป็นประตูครั้งละหน เมื่อจบเพลงสอง คนที่เป็นประตูจะกระดุกแขนลงกั้นคนสุดท้ายให้อยู่ระหว่าง
กลาง คัดออกไป คนข้างหลังต้องระวังตัวให้ดี มิฉะนั้นตนเองต้องออกจากการเล่น ต้องผ่านให้ได้หมด
ทุกคนจึงจะจบเกม

บทร้องประกอบ
"รีรีข้าวสาร
สองทะนานข้าวเปลือก
เลือกท้องใบลาน
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
คดข้าวใส่จาน
พานเอาคนข้างหลังไว้ให้ดี"


17. น้ำขึ้น น้ำลง   (NAM KHOEN NAM LONG)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

เขียนวงกลมที่พื้น 1 วง ภายในวงถือว่าเป้นคลองภายนอกวงกลมเป็นตลิ่ง ผู้เล่นทั้งหมดยืนอยู่
นอกวงกลม ผู้เล่นผลัดกันเป็นหัวหน้าคนหนึ่ง เมื่อหัวหน้าบอกว่า "น้ำขึ้น" ทุกคนกระโดดเข้าไปในวงกลม
และถ้าบอกว่า "น้ำลง" ให้กระโดดออกจากวงกลม คนใดอยู่ในคลองเมื่องน้ำลง หรืออยู่บนตลิ่งเมื่อน้ำขึ้น
ให้ถือว่า ตาย ถูกคัดออก การบอกน้ำขึ้นน้ำลง ไม่จำเป็นต้องบอกสลับกันบอกซ้ำกันก็ได้ ควรบอกเร็วๆ



18. แตะหุ่น   (TAE HOON)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาว เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นคนวิ่งไล่ คนอื่นๆ หลอกล่อ เมื่อคนวิ่งไล่ไปแตะใคร คนนั้น
ต้องหยุดนิ่งในท่าทีกำลังกระทำอยู่นั้น จะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าไม่ได้ ถ้าเคลื่อนไหวคนนั้นก็ตาย ต้องมา
เป็นคนไล่แทน ถ้าแตะได้หมด และทุกคนเป็นหุ่นหมด ผู้วิ่งไล่จะแสดงท่าหลอกล่อต่างๆ ให้ยิ้ม หัวเราะหรือ
เคลื่อนไหว ใครเคลื่อนไหวต้องมาเป็นคนวิ่งไล่แทน



19. ขี่ม้าก้านกล้วย   (KHEE MA KARN KLUI)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นนำก้านกล้วยมาตัดเป็นรูปม้า ตอนโคนเป็นหัว ตอนปลายเป็นหาง ใช้สายจากก้านกล้วยโยง
เป็นบังเหียน นำขึ้นขี่เล่น แล้ววิ่งไปรอบๆ ทำท่าเหมือนขี่ม้า ทุกคนจะแข่งกันว่าใครจะวิ่งได้เร็วกว่ากัน



20. กำทาย   (KUM TAI)

จำนวนผู้เล่น   จำนวน 2 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ผู้เล่นแต่ละคนนำเมล็ดถั่วหรือก้อนหินมา ใครนำมามากก็เป็นคนกำทายก่อน ผู้ทายกำเมล็ดถั่ว
จำนวนเท่าใดก็ได้ แล้วให้คนอื่นทาย (ว่าในมือมีเมล็ดถั่วจำนวนเท่าใด) ใครทายถูกก็ได้เมล็ดถั่วจำนวนนั้นไป
ถ้าไม่ถูก คนทายคนเก่าก็ได้ทายใหม่ บางแห่งกำหนด จำนวนถั่วว่าห้ามเกิน 20 เมล็ด



21. ขี่ม้าส่งเมือง หรือ เทวดานั่งเมือง

(KHEE MA SONG MUANG OR DHEWADA NUNG MUANG)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย เท่าๆ กัน เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นเจ้าเมือง ซึ่งจะต้องไม่เข้ากับฝ่ายใด
ฝ่ายหนึ่ง แต่ละฝ่ายจับไม้สั้นไม้ยาว เพื่อเลือกว่าใครจะเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชนะจะเริ่มเล่นก่อนโดยการเดิน
มากระซิบชื่อใครคนหนึ่งของฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้ที่เป็นเจ้าเมืองก่อน แล้วกลับไป ฝ่ายตรงกันข้ามจะเดิน
มากระซิบบ้าง ถ้ากระซิบชื่อได้ตรงกับที่ฝ่ายแรกกระซิบไว้ เจ้าเมืองจะกล่าวคำว่า "โป้ง" คนกระซิบคนแรก
ต้องเป็นเชลย และฝ่ายที่ทายถูกทายได้อีกครั้งจนกว่าข้างใดข้างหนึ่งจะหมด ฝ่ายใดหมดก่อน ฝ่ายนั้นแพ้
และให้ฝ่ายชนะขี่หลังไปส่งเมือง



22. ห่วงยาง   (TOSSING THE RUBBER RING)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

วิธีเล่น

มีวิธีการเล่นคล้ายลูกช่วง แต่อุปกรณ์การเล่นใช้ห่วงยางและมีกติกาต่างออกไปเล็กน้อย คือ เมื่อ
ผู้เล่นโยนห่วงยางให้ฝ่ายตรงข้ามรับ ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามรับไม่ได้ แต่มือถูกห่วงแล้วต้องไปเป็นเชลยของตน
ถ้าเชลยรับได้ เอาห่วงไปแตะฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ที่ถูกแตะต้องตกเป็นเชลย เล่นกันจนกว่าฝ่ายใดเหลือน้อยที่
สุด ฝ่ายนั้นแพ้



23. หมากตะเกียบ   (MARK TA KIAB)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้มะนาว 1 ลูก และตะเกียบ 10 อัน จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเล่นก่อน วิธีเล่นคล้ายหมากเก็บ
ของภาคอีสาน แต่เมื่อถึงหมากสิบโยนลูกมะนาวขึ้นแล้วรวบ 10 อัน ถือสลับมือไปมา 10 ครั้ง โดยลูก
มะนาวไม่ตก จากนั้นเล่นหมากตะเพียน คือ วางไม้ตะเกียบเป็นรูปปลาตะเพียน แล้วหยิบทีละอัน ถ้าทำให้
ปลาแตกจากกันถือว่า "ตาย"



24. หมากเก็บ   (MARK-KEB)

จำนวนผู้เล่น   2 - 4 คน

วิธีเล่น

ใช้ก้อนกรวดที่มีลักษณะกลมๆ 5 ก้อน เสี่ยงทายว่าใครจะเล่นก่อน โดยวิธีขึ้นร้าน คือ ถือหมาก
ทั้งห้าเม็ดไว้แล้วโยนพลิกหงายหลังมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับอีกที ใครเหลือหินอยู่ในหินอยู่ในมือมากที่สุด
คนนั้นเล่นก่อน มีทั้งหมด 5 หมาก

หมากที่ 1 ทอดหมากให้ห่างๆ กัน เลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ควรใช้เม็ดกรวดที่ห่างที่สุด โยนเม็ดนำขึ้น
แล้วเก็บทีละเม็ดพร้อมกับรับลูกนำที่หล่นลงมาให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" ขณะที่หยิบเม็ดที่ทอดนั้น
ถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นถือว่า ตาย

หมากที่ 2 เก็บทีละ 2 เม็ด

หมากที่ 3 เก็บทีละ 3 เม็ด

หมากที่ 4 ใช้โปะ ไม่ทอด คือ ถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น
แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้
"ขี้นร้าน" ได้กี่เม็ดเป็นแต้มของคนนั้น ถ้าขึ้นร้านเม็ดหล่นหมด ใช้หลังมือ
รับไม่ได้ ถือว่า "ตาย" ไม่ได้แต้ม คนอื่นเล่นต่อไป ถ้าใครตายหมากไหนก็เริ่มต้นหมากนั้น ส่วนมาก
กำหนดแต้ม 50-100 แต้ม เมื่อแต้มใกล้จะครบ เวลาขึ้นร้านต้องคอยระวังไม่ให้เกินแต้มที่กำหนด ถ้าเกิน
ไปเท่าไร หมายถึงว่าต้องเริ่มต้นใหม่โดยได้แต้มที่เกินไปนั้น

วิธีเล่นหมากเก็บนี้มีพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น โยนลูกนำขึ้นเก็บทีละเม็ด เมื่อเก็บได้เม็ดหนึ่งก็โยน
ขึ้นพร้อมกับลูกนำ 2 - 3 - 4 เม็ด ตามลำดับ หมาก 2 - 3 -4 ก็เล่นเหมือนกัน  โยนขึ้นทั้งหมด   เรียกว่า
"หมากพวง" ถ้าโยนลูกนำขึ้นเล่นหมาก 1- 2 -3 -4 แต่พลิกข้างมือขึ้นรับลูกนำให้เข้าในมือระหว่างนิ้ว
โป้งและนิ้วชี้ โดยทำเป็นรูปวงกลมเตรียมไว้เรียก "หมากจุ๊บ" ถ้าใช้มือซ้ายป้อง    และเขี่ยหมากให้เข้าใน
มือนั้นทีละลูกในหมาก 1 -2 -3 และ 4 ตามลำดับ เรียกว่า "อีกาเข้ารัง" ถ้าเขี่ยไม่เข้าจะตาย ถ้าใช้นิ้ว
กลางกับนิ้วหัวแม่มือยันพื้น นิ้วอื่นปล่อยทำเป็นรูปซุ้มประตู เขี่ยหมากออกเรียกว่า "อีกาออกรัง"   ถ้าใช้
นิ้วกลางกับนิ้วหัวแม่มือ ขดเป็นวงกลม นิ้วชี้ชั้ตรงนิ้ว นอกนั้นยันพื้นเป็นรูปรูปู เรียกว่า "รูปู"  เมื่อจบ
เกมการเล่นแล้วจะมีการกำทาย ผู้ชนะจะทายผู้แพ้ ว่ามีกี่เม็ด ถ้าทายผิดจะต้องถูกเขกเข่า กี่ทีตามที่ตนเอง
ทายจนเหลือเม็ดสุดท้าย คนทายจะถือเม็ดไว้ในมือ แล้ววนพร้อมกับร้องเพลงประกอบ   เมื่อร้องจบเอา
มือหนึ่งกำไว้ งอข้อศอกขึ้นต้องบนมือที่กำอีกข้างหนึ่ง

บทร้องประกอบ

"ตะลึงตึงตัง ข้างล่างห้า ข้างบนสิบ"



25. หมากอีงัด   (ไม้หี่ง) (MARK E-NGUD)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้ไม้สั้น 1 คืบ 1 อัน และยาวประมาณ 1 แขน 1 อัน ขุดหลุมยาว 1 หลุม ขีดเล้น 1 เส้น
ผู้เล่นฝ่ายแรกนำไม้สั้นไปวางลงที่ร่องหลุม แล้วเอาไม้ยาวสอดเข้าไปงัดไม้สั้นให้กระดอนไกลที่สุด
เท่าที่จะไกลได้ แล้วเอาไม้ยาววางที่หลุม ให้ฝ่ายตรงกันข้ามโยนไม้สั้นให้ถูกไม้ยาว ถ้าไม่ถูกก็ต้องเล่น
ตาต่อไป มีทั้งหมด 3 ตาด้วยกัน คือ

ตาที่ 1 เรียก อีงัด

ตาที่ 2 เรียก อีตี หรือ เอาไม้ยาวตีไม้สั้นออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

ตาที่ 3 เรียก อีวัด ดึงเอาไม้ยาววัดระยะทางที่ไม้ยาวตีไม้สั้นออกไปว่าไกลเท่าไร

ผลัดเปลี่ยนกันเล่นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบหมดทุกคน ผู้ที่ตีได้ไกลที่สุดจะได้ขี่หลังฝ่ายตรงกันข้าม
เท่าที่ตกลงกันไว้



26. อ้ายเข้อ้ายโขง   (IA KHAE IA KHONG)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเป็นอ้ายเข้ สมมุติเป็นแม่น้ำมี 2 ฝั่ง คนอื่นๆ อยู่บนบก อ้ายเข้อยู่กลางแม่น้ำ
ทุกคนต้องว่ายน้ำข้ามฝั่ง อ้ายเข้คอยจับคนกำลังว่ายน้ำให้ได้ ถ้าอ้ายเข้จับใครได้คนนั้นต้องเป็นอ้ายเข้แทน
ระหว่างวิ่งข้ามฝั่ง คนบนบกจะหยอกล้อทำท่าทางต่างๆ

บทร้องประกอบ

" อ้ายเข้าอ้ายโขง
อยู่ในโพรงไม้สัก
อ้ายเข้ฟันหัก
กัดคนไม่เข้า"

27. อีขีดอีเขียด   (E-KHEED E-KHIAD)

จำนวนผู้เล่น   จำนวน 2 - 4 คน

วิธีเล่น

ใช้หอยทราย หรือเมล็ดน้อยหน่า หรือเมล็ดมะขาม หรือเมล็ดลูกไม้อะไรก็ได้เท่าที่พอจะหาได้ง่ายๆ
โดยให้มีขนาดเล็กๆ เข้าไว้ ผู้เล่นแต่ละคนลงกองทุนคนละเท่าไรก็ตาม แต่จะกำหนดอาจจะเป็นคนละ
10 - 20 เมล็ด จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเล่นก่อน เมื่อได้แล้วผู้เล่นจะโปรยหรือทอดเมล็ดพืชทั้งหมดลงที่
พื้นกระดาน แล้วเลือกดีดเมล็ดที่ละคู่ ถ้าดีดถูกกี่คู่ก็เป็นอันว่าได้เมล็ดนั้นเป็นของตน ถ้าดีดไม่ถูกถือว่าตาย
และระหว่างที่ดีด มือไปโดนเมล็ดอื่นที่อยู่ติดกันไหวตัวก็ตายเหมือนกัน คนอื่นๆ เล่นต่อไป ถ้าดีดได้ครบทุก
คู่ก็ชนะได้เมล็ดไปทั้งหมด เริ่มกองทุนใหม่



28. อีกาหุบปีก   (E-KA HOOB PEEK)

จำนวนผู้เล่น   ประมาณ 4-5 คน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อหาคนเป็น "อีกา" ผู้เป็นอีกายกมือขวาขึ้น ยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย สูงเสมอกับ
ระดับไหล่กางนิ้วมือไว้และคว่ำมือลง สมมุติเป็นปีกอีกา ผู้เล่นคนอื่นใช้นิ้วชี้ มือขวาจี้ไปที่ฝ่ามือ (ปีก) ของ
อีกา แล้วอีกาก็ร้องขึ้นว่า "อีกา-า-า-า-า-า-า" ลากเสียง "กา" ให้ยาวออกไป ในขณะที่ยังมีเสียงกาอยู่นั้น อีกา
ก็ร้องขึ้นว่า "ฮุบ" (หุบ) แล้วมือก็หุบทันที ผู้เล่นทุกคนจะต้องรีบชักนิ้วกลับโดยเร็วก่อนที่อีกาจะหุบปีกมา
สัมผัสนิ้วชี้ตน ถ้าอีกาสัมผัสนิ้วของผู้ใด ผู้นั้นต้องมาเป็นอีกาแทน

กติกาการเล่นมีหลายประการ คือ

1. อีกาต้องร้อง "ฮุบ" พร้อมกับหุบปีก จะหุบปีกก่อนที่จะร้อง "ฮุบ" ไม่ได้

2. เมื่อหุบปีก ปีกต้องอยู่กับที่ จะลดต่ำตามนิ้วของผู้เล่นไม่ได้

3. เมื่อหุบปีก ถ้าสัมผัสนิ้วชี้ของผู้เล่นมากกว่า 1 คน จะต้องเลือกคนใดคนหนึ่งเป็น "อีกา" ต่อไป

4. ปลายนิ้วชี้ของผู้เล่นจะต้องสัมผัสฝ่ามือของอีกา

5. ปีก (นิ้วมือ) ของอีกาสัมผัสนิ้วชี้ผู้ใดในขณะที่หุบปีก ผู้นั้นกับอีกาต้องเปลี่ยนหน้าที่กัน

กติกาการเล่นนี้ ผู้ใดทำผิดกติกาก็ไม่มีความผิดหรือมีโทษแต่อย่างใด แต่เมื่อใครทำผิดและมีเสียงคัดค้าน
ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น อีกาบอกว่า หุบปีกสัมผัสนิ้วชี้ใครเข้าแล้วแต่เจ้าของนิ้วชี้คัดค้านว่าอีกาหุบปีกก่อนร้อง
"ฮุบ" เช่นนี้ ถ้ามีผู้เล่นคัดค้านกันหลายเสียง อีกาก็ต้องยอมเป็นอีกาต่อไป อีกาจะฮุบปีกก่อนร้อง "ฮุบ" ไม่ได้
แต่เจ้าของนิ้วชี้จะชักนิ้วก่อนมีเสียง "ฮุบ" ได้ อีกาสามารถหลอกล่อให้เจ้าของนิ้วขี้ตกใจรีบชักนิ้วหนี้ โดยคิดว่า
อีกาจะร้อง "ฮุบ" แต่มิได้ร้องจริง เมือตายใจแล้วจึงร้อง "ฮุบ" ทันที อีกามีสิทธิที่จะร้อง กา - า - า ซ้ำกันสัก
กี่ครั้งก็ได้ โดยไม่ร้อง "ฮุบ" เลย



29. ตีไก่   (TEE KAI)

จำนวนผู้เล่น   ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องครบคู่

วิธีเล่น

ผู้เล่นนำหญ้าแพรกที่มีหัวแข็งๆ คล้ายหัวไก่คนละกี่อันก็ได้ การเลือกหัวหญ้ายิ่งโตมากยิ่งดี ผู้เล่น
แบ่งเป็น 2 ฝ่าย จับคู่แข่งขันกัน โดยใช้หญ้าที่เก็บมาผลัดกันตีคนละที จนหัวไก่ของคู่ต่อสู้หักก็เป็น
อันชนะ แข่งกับคนต่อไป