ประเพณี "ปอยส่างลอง"  หรือ  "ประเพณีบวชลูกแก้ว"   เป็นประเพณีประจำปี
ของชาวไตหรือไทยใหญ่เกือบทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีนี้เป็นการนำเด็กชายที่มี
อายุครบบวชเข้าบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อกล่อมเกลาให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป

	คำว่า "ปอยส่างลอง" เป็นภาษาไทยใหญ่ ซึ่งสามารถแยกศัพท์ออกได้คือ "ปอย"
แปลว่างานหรือพิธีการ "ส่าง" หมายถึง สามเณร ส่วน "ลอง" แปลว่า ยังไม่ได้เป็น ฉะนั้น
เมื่อนำมารวมกันจะหมายถึงพิธีการเตรียมตัวเป็นสามเณรนั่นเอง

	กระบวนการปอยส่างลอง    จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการชักชวนกันของชาวบ้านที่มีลูกหลาน
อายุครบบวช โดยจะมีการคัดเลือกเจ้าภาพใหญ่   ซึ่งจะเป็นแม่งานในการจัดงาน ซึ่งมักจะเป็น
คหบดีหรือผู้กว้างขวางในสังคมโดยเจ้าภาพจะมีหน้าที่ในการร่วมกันกำหนดขั้นตอนของพิธีการ

	ส่วนเด็กที่มีอายุครบบวช    จะถูกนำตัวไปอยู่วัดเพื่อเรียนรู้วัตรปฎิบัติสำหรับการเป็น
สามเณรก่อนพิธีการประมาณ 20 วัน   ส่วนผู้ใหญ่ก็จะวางกำหนดการวันประกอบพิธีซึ่งจะแบ่ง
เป็น  3  วัน วันรับส่างลองไปฝึกวัตรปฏิบัติที่วัดกลับมาประกอบพิธีที่บ้านเจ้าภาพ  วันที่สองเป็น
วันแห่เครื่องไทยทานและเรียกขวัญส่างลอง  (คล้ายๆ กับการทำขวัญนาค)  ซึ่งจะประกอบด้วย
ขบวนแห่ฟ้อนรำแบบไทยใหญ่ขบวนมโหรี  ขบวนแห่เครื่องไทยทาน  เครื่องอัฐบริขาร  เทียนเงิน
เทียนทอง เป็นต้น    ซึ่งส่างลองจะถูกตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับที่สวยงาม  และจะขี่คอ
ผู้ช่วยที่เรียกกันว่า  "ตาแปส่างลอง"  ตลอดการเดินทาง   และวันที่สามเป็นวันบรรพชา  ซึ่งก็ไม่
แตกต่างจากการบรรพชาในส่วนอื่นๆ ของประเทศเท่าใดนัก