ความคืบหน้าการขยายบริการด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ Online

1. หัวข้อเรื่อง  รายงานความคืบหน้าการขยายบริการด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ On-line

2. ความเป็นมา

2.1 นโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล : ประชาชนจะได้อะไร?

เพื่อให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจสูงสุดในการเข้าถึงบริการภาครัฐ รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จึงได้กำหนดนโยบายการปฏิรูประบบราชการขึ้น ทั้งนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่ “ ความพึงพอใจสูงสุด” ของประชาชนเป็นหลัก โดยทำการปรับปรุง องค์กรภาครัฐ ให้มีความยืดหยุ่น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดขั้นตอนการปฏิบัติ ลดความซ้ำซ้อน นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดระบบ One-Stop Service เพื่อความประหยัด คุ้มค่า และความโปร่งใส พอสรุปเป็นหลักการได้ดังนี้

    • การกระจายอำนาจ สู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมากที่สุด
    • การลดขั้นตอนการปฏิบัติ ให้สั้นที่สุด
    • การลดความซ้ำซ้อน
    • การนำ ICT มาใช้ปรับปรุงระบบการให้บริการภาครัฐ เพื่อความรวดเร็ว
    • การประหยัด เวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อขอรับบริการ
    • สร้างระบบ One-Stop Service
    • ความโปร่งใส

2.2 การขยายระบบการให้บริการด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ On-line ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

จากนโยบายดังกล่าว สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติในการให้บริการด้านทะเบียนและบัตรแก่ประชาชน จึงได้เสนอ ค.ร.ม. เพื่อขออนุมัติดำเนินการตามโครงการขยายระบบการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ (ระบบคอมพิวเตอร์ On-line) ให้ครอบคลุมสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และ ค.ร.ม. ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวมาเป็นลำดับ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ (ก.บปท.) อันมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2.2.1 มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 45

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการขยายการจัดทำระบบให้บริการประชาชน
ทางด้านการทะเบียนและบัตรแบบใหม่ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ชะลอโครงการที่จะใช้งบประมาณในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ ไว้ก่อน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยด่วน โดยนำความเห็นของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วยว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะให้ประชาชน 1 คน มีบัตรประจำตัวเพียงใบเดียวสามารถใช้แสดงตนและติดต่อราชการได้ทุกประเภท และประเภทของบัตรควรใช้เทคโนโลยีระดับใด ใช้บัตรที่มีความจุมาก (Smart Card) ตั้งแต่ต้นหรือเริ่มต้นด้วยบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็ก แล้วยกระดับเป็นบัตรที่มีความจุมากขึ้นในภายหลัง โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและปลอดภัยของข้อมูล และการป้องกันการปลอมแปลงบัตร ควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร ความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องใช้บัตรร่วมกันมีเพียงใด จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มมากน้อยเพียงใด การจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการทำบัตร ควรเก็บแค่ไหน เพียงไร และมีผลกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือไม่ ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงอัตราตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย สำหรับการต่อเชื่อมเข้าโครงข่ายไอทีขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ควรเจรจาให้ ทศท.คิดค่าเช่าวงจรสื่อสารข้อมูลและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ในอัตราที่เหมาะสม แล้วให้นำผลการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป

2.2.2 มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 46

1. เห็นชอบโครงการ ปี 2546 ปีแห่งการบริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (CITIZEN E-SERVICE) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) รองประธานกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติเสนอ สำหรับงบประมาณที่จะใช้จ่ายให้กระทรวงมหาดไทยตกลงในรายละเอียดกันสำนักงบประมาณ

2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิตฯ) รับไปพิจารณาร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) รองนายกรัฐมนตรี (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นที่จะต้องออกบัตรเพื่อใช้แสดงตนหรือเพื่อใช้ในการรับบริการภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางและให้ได้ข้อยุติชัดเจน โดยขอให้พิจารณาว่าเมื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ต้องออกบัตรให้กับประชาชนเริ่มต้นด้วยการใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลทะเบียนบุคคล (identify) ของกระทรวงมหาดไทยแล้ว บัตรประจำตัวประชาชนในอนาคต จะยังคงใช้แบบแถบแม่เหล็ก ซึ่งอาจต้องให้ประชาชนยังคงมีบัตรต่าง ๆ หลายใบ หรือจะพัฒนาไปสู่บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ซึ่งประชาชนจะมีบัตรเพียงใบเดียว โดยอาจทำเป็นระยะ ๆ หรือจัดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม ๆ ทั้งนี้ ให้พิจารณาความคุ้มค่าทางเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 มกราคม 2546

2.2.3 มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 46

1. รับทราบผลการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 เรื่องการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เสนอ

2. คณะรัฐมนตรีเห็นว่าหลักการการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ต้องเริ่มต้นโดยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนของกระทรวงมหาดไทยเป็นบัตรหลัก เพื่อให้ทราบข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฎรที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน สำหรับข้อมูลของส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงและเพิ่มเติมข้อมูลต่าง ๆ ลงในบัตรประจำตัวประชาชนของกระทรวงมหาดไทยได้เมื่อมีความพร้อม จึงขอให้ดำเนินการดังนี้

 

ให้กระทรวงมหาดไทยรับแนวทางดังกล่าวไปเตรียมการวางแผนและดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ควรพิจารณาอายุของบัตรประชาชนที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 6 ปี ด้วยว่าจะสามารถขยายระยะเวลาให้ยาวกว่านี้เพื่อประหยัดงบประมาณที่จะใช้ในการออกบัตรใหม่ รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทุกคนต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่เกิดด้วย

- ในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้แล้วเสร็จ ให้ส่วนราชการ/หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องจัดทำบัตรให้กับประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามกรอบอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ/หน่วยงาน ออกบัตรในลักษณะเดิมหรือเป็นบัตรชั่วคราวไปก่อน เมื่อการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงมหาดไทยแล้วเสร็จก็ให้นำบัตรของกระทรวงมหาดไทยมาเพิ่มเติมข้อมูลของส่วนราชการ/หน่วยงานให้ครบถ้วนต่อไป

- ในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ดังกล่าว ให้ประสานและหารือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเรื่องของไมโครชิพเพื่อการจัดทำบัตรฯ ให้เป็นที่เรียบร้อยด้วย

- ให้สำนักงบประมาณจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น โดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ ขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

หากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถดำเนินการขยายโครงการ
ปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรแบบใหม่ (ด้วยคอมพิวเตอร์ On-line) ตามมติ ค.ร.ม. ดังกล่าวเสร็จสิ้น สำนักทะเบียนทั่วประเทศที่มีจำนวนทั้งสิ้น 1,077 แห่ง จะสามารถให้บริการประชาชนด้วยการทะเบียนและบัตรได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนจะสามารถ “ติดต่อ ณ ที่ใดก็ได้ / ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว เสร็จสิ้นภายใน 15 นาที” (ในปัจจุบันประชาชนจะได้รับบริการดังกล่าวภายในเขตพื้นที่สำนักทะเบียน 211 แห่ง จากจำนวน 1,077 แห่ง เท่านั้น)

3. แนวทางการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card)

สำหรับแนวทางการพัฒนารูปแบบ “บัตรประจำตัวประชาชน” จากบัตรฯ แบบแถบแม่เหล็ก (คล้ายบัตร ATM) และบัตรฯ แบบกระดาษเคลือบพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อรองรับระบบการให้บริการแบบ E-Citizen และ E-Government ของรัฐบาลมีอยู่ 2 แนวทาง กล่าวถึง

3.1 แนวทางการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ : ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ” เป็นแบบที่เรียกว่า Decentralize

ประเด็น

สาระ/เนื้อหา

1. ระบบการผลิต

(ทุกที่ ทันใด ทั่วไทย)

- กระจายอำนาจการออกบัตรฯ ไปยังสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น ทั่วประเทศ

- ประชาชนสามารถติดต่อได้ทุกที่

- สามารถออกบัตรเสร็จสิ้น ณ สำนักทะเบียนนั้น ๆ ภายใน 15 นาที

-มีข้อผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ทันที (ไม่ต้องมาขอแก้ไขอีกครั้ง)

 

ประเด็น

สาระ/เนื้อหา

2. การติดต่อขอรับบริการ

(ทุกที่ ทั่วไทย)

- สามารถติดต่อขอรับบริการได้ ณ สำนักทะเบียนที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน (ไม่จำเป็นต้องไปขอรับบริการ ณ สำนักทะเบียนที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

3. การใช้เวลาในการติดต่อขอรับบริการ

- ติดต่อเพียงครั้งเดียว เสร็จสิ้นภายใน 15 นาที

- ติดต่อเพียงครั้งเดียว เบ็ดเสร็จหรือที่เรียกว่า One-Stop Service (ได้รับบัตรทันที หากมีข้อผิดพลาดสามารถแก้ไข
ได้เลย)

4. มาตรฐานการให้บริการ

(มาตรฐานเดียวกัน)

- เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักทะเบียน

- ระบบการผลิตและตรวจสอบข้อมูลเหมือนกันด้วยระบบ On-line

- สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลได้ทันที

5. จะเริ่มให้บริการเมื่อใด

(ของขวัญปีใหม่ 2547)

- จะเริ่มให้บริการตั้งแต่ มกราคม 2547 เป็นต้นไป

3.2 แนวทางการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ : ตามข้อเสนอของคณะกรรมการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นแบบที่เรียกว่า Centralize

ประเด็น

สาระ/เนื้อหา

1. ระบบการผลิต

 

- สงวนอำนาจการออกบัตรฯ ไว้ ณ ส่วนกลาง (กทม.)

- เมื่อยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนแล้วจะต้องส่งข้อมูล
มาดำเนินการผลิตที่ส่วนกลาง

- ดำเนินการผลิตตามกระบวนการแล้วจึงส่งให้ผู้ยื่นคำร้อง

2. การติดต่อขอรับบริการ

 

- สามารถติดต่อขอรับบริการได้ ณ สำนักทะเบียนที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน (ไม่จำเป็นต้องไปขอรับบริการ ณ สำนักทะเบียนที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

3. การใช้เวลาในการติดต่อขอรับบริการ

- ติดต่อ ครั้งที่ 1 ยื่นคำร้องขอทำบัตรฯ

- ติดต่อ ครั้งที่ 2 ขอรับบัตร หรือแก้ไข รายการในบัตรฯ
ที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง (เมื่อพบข้อผิดพลาดหลังจาก
ได้รับบัตรฯ แล้ว) เช่น คำนำหน้านาม การสะกดชื่อตัว-สกุล ผิดพลาด

4. จะเริ่มให้บริการเมื่อใด

- หลังจากติดตั้งระบบการผลิต ณ ส่วนกลางเสร็จสิ้น

- หลังจากการวางระบบการผลิตและจัดส่งให้ประชาชนเสร็จสิ้น

แบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่